แถลงข่าวด่วน!!!

สงกรานต์นี้ใช้เบาะนิรภัยสำหรับเด็ก

 

     
 

เมื่อวันที่ 10 เม.ย.57 เวลา 13.30 น.
 


ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก
จัดแถลงข่าว



“เดินทางท่องเที่ยวสงกรานต์ปลอดภัย ด้วยที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก”



ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ร่วมกับ ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

จากข้อมูลของสำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข พบว่าในแต่ละปีจะมีเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี ประสบอุบัติเหตุจากการโดยสารรถยนต์ทุกประเภท (ไม่รวมรถจักรยานยนต์) กว่า 5500 รายต่อปีหรือ 15 คนต่อวัน เป็นการบาดเจ็บรุนแรงที่ต้องการการนอนพักรักษาตัวหรือสังเกตุอาการในโรงพยาบาลประมาณ 1400 คนต่อปี และเสียชีวิต รวมประมาณ 101 คนต่อปี

 

 

 
 

 

 
 

ในช่วง 7 วันของเทศกาลสงกรานต์ จะมีเด็กบาดเจ็บจากอุบติเหตุทางถนนประมาณ 1100 ราย เป็นการบาดเจ็บรุนแรงที่เกิดจากการโดยสารรถยนต์ ทุกประเภท (ไม่รวมรถจักรยานยนต์) ประมาณ 132 ราย ในจำนวนนี้มีการเสียชีวิตจำนวน 14 ราย
 


เมื่อรถยนต์ มีการเบรกอย่างกะทันหัน หักเลี้ยวอย่างฉับพลัน หรือ ชนอย่างรุนแรง สิ่งที่เกิดขึ้นในทันทีก็คือ ...ร่างของเด็กๆจะหลุดลอยจากที่นั่ง ไปอัดกับแผงคอนโซลหน้ารถ ปะทะกับกระจกหน้ารถ แล้วทะลุลอยละลิ่วออกนอกรถ หรือ ประตูรถเปิดออก แล้วเด็กกระเด็นออกไปนอกรถ ด้วยรูปร่างเล็กบอบบางของเด็กๆ จึงทำให้...กระโหลกศีรษะ กระดูกซี่โครง แขนขา แตกหัก ปอด หัวใจ รวมทั้งอวัยวะภายในช่องท้องต้องชอกช้ำ หรือ ฉีกขาดโดยเฉพาะศีรษะของเด็กๆ ที่กระแทกอย่างรุนแรง ทำให้มีเลือดออกในสมอง เป็นเหตุแห่งความพิการ หรือ เสียชีวิต...



กอดลูก..ให้นั่งตัก = รักลูกผิดทาง..เมื่อรถท่านมีถุงลมนิรภัย
 

 


ภาพที่เราเห็นตามท้องถนน ส่วนใหญ่ก็คือ ผู้ใหญ่อุ้มเด็กบนตัก แล้วนั่งด้านหน้าข้างคนขับ พ่อแม่คงอยากให้ลูกอยู่ใกล้ชิดเผื่อเกิดอุบัติเหตุลูกก็คงปลอดภัยในอ้อมกอดของพ่อแม่ แต่ความจริงก็คือ...แรงมหาศาลของการปะทะของจากการชน หรือแรงจากการเบรกกระทันหันนั้นมันเกินกำลังที่พ่อแม่จะยึดลูกอยู่ หนำซ้ำการนั่งห่างจากถุงลมนิรภัยใกล้กว่า 25 ซม เมื่อมันระเบิดออกมา แรงกระแทกจากถุงลมนิรภัยก็สามารถทำให้เกิดการบาดเจ็บรุนแรงต่อเด็กได้



ถุงลมนิรภัยจะระเบิดกางออกโดยปฏิกิริยาเคมีก่อให้เกิดก๊าซไนโตรเจน (30-100 ลิตรแล้วแต่รุ่น) อย่างรวดเร็วในเวลา 1/20 วินาที ผู้โดยสารจะได้รับความปลอดภัยเสริมจากถุงลมต่อเมื่อนั่งห่างถุงลมอย่างน้อย 25 ซม เท่านั้น หากนั่งใกล้กว่านี้ จะเกิดอันตรายจากการกระแทกของถุงลมเอง โดยเฉพาะในเด็กที่นั่งตักแม่ทำให้เด็กอยู่ห่างจากระยะระเบิดของถุงลมน้อยเกินไป มีรายงานการเสียชีวิตจากถุงลมในอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรงกว่าสองร้อยราย ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยเป็นเด็กน้อยกว่าสิบสองปี และการบาดเจ็บของสมองเป็นสาเหตุหลัก



มีรายงานโดยศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐ (Center for Disease Control) ถึงการตายของเด็กอายุ 3 สัปดาห์ – 12 ปีที่เกิดจากถุงลมนิรภัย และการศึกษาที่ประเทศกรีกในเด็ก 129 รายอายุ 0-11 ปีที่ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุรถยนต์โดยนั่งด้านหน้าและไม่ได้ใช้ที่นั่งนิรภัย พบว่าเด็กกลุ่มนี้มีความเสี่ยงต่อการได้รับบาดเจ็บมากกว่ากลุ่มที่นั่งด้านหลังและไม่ได้ใช้ที่นั่งนิรภัยเช่นกันถึง 5 เท่าตัว เบาะหลังจึงเป็นตำแหน่งที่ปลอดภัยสำหรับเด็กอายุน้อยกว่า 13 ปี
 


สำหรับเด็กนั้นจะใช้เข็มขัดนิรภัยที่ติดมากับรถยนต์ได้เหมาะสมปลอดภัยก็ต่อเมื่อ ...มีอายุ 9 ปีขึ้นไป หรือ มีน้ำหนัก

มากกว่า 30 กก หรือความสูงตั้งแต่ 140 ซ.ม. ขึ้นไป...เท่านั้น มิฉะนั้นเข็มขัดนิรภัย อาจกลายเป็นตัวการทำอันตรายต่อเด็กๆอย่างรุนแรง แต่ใน พรบ. จราจรของบ้านเรากำหนดไว้ในมาตรา 123 ว่า ผู้ขับขี่รถยนต์ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัย ไว้กับที่นั่งในขณะขับขี่ รถยนต์ และต้องจัดให้คนโดยสารรถยนต์ ซึ่งนั่งที่นั่งตอนหน้าแถวเดียวกับ ที่นั่งผู้ขับขี่รถยนต์รัดร่างกายไว้กับที่นั่งด้วยเข็มขัดนิรภัย

1. หากลูกของเรามีอายุไม่เกิน 9 ปี “ที่นั่งหรือเบาะนิรภัยสำหรับเด็ก” จะช่วยปกป้องความชีวิตของเด็กๆ National Highway Traffic Safety Administration ของสหรัฐได้ทำการศึกษาและพบว่า ที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กนี้จะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กทารกถึงร้อยละ 69 และเด็ก1-4 ปี ร้อยละ 47 ขณะเดียวกันจะลดความเสี่ยงต่อการตายในเด็กอายุมากกว่า 5 ปีได้ร้อยละ 45 และลดความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บรุนแรงร้อยละ 50

2. สำหรับทารกที่อายุน้อยกว่า 2 ปี ต้องใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับทารก และต้องจัดวางที่นั่งนิรภัย ที่เบาะหลัง โดยหันหน้าไปทางด้านหลังรถเท่านั้น เพื่อลดโอกาสความเสี่ยงต่อการเกิดกระดูกต้นคอหักจากการสะบัดของศีรษะเมื่อเกิดการชนหรือเบรครุนแรง

3. เด็กอายุ 2-3 ปี ให้พยายามใช้ที่นั่งนิรภัยที่เบาะหลัง โดยหันหน้าไปทางด้านหลังรถตราบเท่าที่ตัวเด็กไม่สูงเกินที่นั่งนิรภัย หรือน้ำหนักไม่เกินตามที่บริษัทกำหนดไว้ หากเด็กตัวโตเกินกว่าข้อกำหนดที่นั่งนิรภัยแล้ว ให้เปลี่ยนเป็นที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กเล็กซึ่งจะหันหน้าไปทางด้านหน้ารถตามปรกติ แต่ยังคงใช้ที่เบาะหลังเท่านั้น

4. เด็กอายุ 4-7 ปี ให้ใช้ที่นั่งสำหรับเด็กเล็กต่อไปจนตัวสูงหรือน้ำหนักเกินกว่าข้อกำหนดของที่นั่งนิรภัยที่ใช้ จึงเปลี้ยนมาเป็นที่นั่งเสริม (booster seat) ซึ่งจะราคาประหยัด ไม่มีเข็มขัดนิรภัยในตัว ใช้เข็มขัดนิรภัยรถยนต์เป็นอุปกรณ์ยึดเหนี่ยว เด็กวัยนี้ยังคงต้องนั่งเบาะหลังเท่านั้น

5. เด็กอายุ 8-12 ปี ควรใช้ที่นั่งเสริม (booster seat) จนกว่าสามารถใช้เข็มขัดนิรภัยได้พอดี โดยทั่วไปควรจะต้องมีอายุมากกว่า 9 ปี ขึ้นไป

6. เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด เด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปีต้องนั่งเบาะหลังเท่านั้น

7. ในกรณีรถปิกอัพ ห้ามมิให้เมีผู้โดยสารในกะบะหลัง โดยเพาะอย่างยิ่งเด็กโดยเด็ดขาด ผู้โดยสารในกะบะหลังมีความเสี่ยงมากกว่าผู้นั่งในรถ 3 เท่าตัว เด็กที่นั่งในรถปิกอัพต้องใช้ที่นั่งนิรภัยเหมือนกัน แต่ให้ใช้กับที่นั่งตอนหน้าโดยหันหน้าตามปรกติและต้องไม่มีถุงลมข้างคนขับ (หรือมีแต่สามารถปิดการทำงานได้)

ผู้ร่วมแถลงข่าว

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ตำแหน่ง หน.ศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี

นางนัยนา ขนอนเวช ตำแหน่ง ผู้อำนวยการ โรงเรียนอนุบาลทานตะวัน

ครอบครัวกรณีศึกษา ที่ตระหนักถึงความสำคัญในการใช้ที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กบนรถยนต์

ณ ห้องประชุมศูนย์วิจัยฯ อ.บำบัดน้ำเสีย ชั้น 3 รพ.รามาธิบดี