อย่าให้โรงเรียนเปลี่ยนเป็น  “จุดเสี่ยง”  !

 

บทความโดย  ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์

 

 

“โรงเรียนคือบ้านหลังที่สองของเด็กๆ...” ประโยคคุ้นหูที่เคยได้ยินมาเนิ่นนาน  ฟังครั้งใดก็ให้เกิดความรู้สึกอบอุ่นและแสนปลอดภัย  ทั้งที่ในความเป็นจริง สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ...

 

 

** พัดลมติดเพดานสยอง หล่นใส่หัวม.6  กะโหลกร้าว  ! –สำโรงเหนือ สมุทรปราการ

(จากการตรวจสอบพบว่า น้อตที่ยึดฐานของพัดลมเป็นสนิม)

 

 

 

 

 

 

 

** แป้นบาสล้มทับม.1 กะโหลกแตก เสียชีวิตคาโรงยิม  -อ.สุขสำราญ จ.ระนอง

(เด็กหญิงคนหนึ่งปีนขึ้นไปบนแป้นห่วงบาสเกตบอลซึ่งมีสภาพชำรุด สักครู่ได้ล้มครืนลงมาฟาดราวบันได ซึ่งมีเด็กหญิงผู้เสียชีวิตยืนอยู่

 

 

 

 

 

 

** นักเรียนอนุบาล(4 ขวบ)ขาติดเครื่องเล่นปีนป่าย ร้องไห้จ้า เจ้าหน้าที่ต้องใช้เลื่อยตัดและชะแลงงัดท่อเหล็กนั้น-อ.เมือง  จ.ตราด

 

 

 

** ชิงช้าในโรงเรียนล้มทับนักเรียนหญิงป.6 กะโหลกยุบ คอหัก  -  อ.เมือง  จ.นครสวรรค์

(สาเหตุที่ชิงช้าล้มทับหนูน้อยเคราะห์ร้ายครั้งนี้ พบว่าฐานชิงช้าวางอยู่บนพื้นสนามที่เป็นทราย โดย ไม่ได้มีการเทปูนยึดฐานไว้ ประกอบกันช่วงที่ผ่านมามีฝนตกหนัก อาจทำให้ทรายยุบตัวจนเกิดเหตุสยองดังกล่าว)

 

 

 

**  นักเรียนชายชั้น ป.1( 5 ขวบ)  ถูกไฟดูดขณะกินน้ำเย็นจากตู้ทำน้ำเย็น ภายในโรงเรียน - ต.ไหล่หิน อ.เกาะคา  (จากการตรวจสอบอย่างละเอียดตู้น้ำเย็น พบว่าสายดินตู้ทำน้ำเย็นไม่ได้ต่อไว้ เมื่อกระแสไฟฟ้าเกิด รั่วจึงทำให้ดูดนักเรียนทันที)

***** เครื่องทำน้ำเย็นไฟฟ้าในโรงเรียนรั่วชอร์ตนักเรียน ได้รับบาดเจ็บสาหัส 2 ราย  - ต.ท่าวัง
(เจ้าหน้าที่คาดอาจเกิดจากสายไฟชำรุด หรือทางโรงเรียนลืมต่อสายดิ
น)

 

 

 

 

ขึ้นชื่อว่า “โรงเรียน”แล้ว ควรอย่างยิ่งที่จะเป็นสถานที่ที่ปลอดภัย เพื่อเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ชุมชนในละแวกและเป็นสถานที่เรียนรู้ดูงานให้แก่โรงเรียนและประชาชนโดยทั่วไป

 

 

            ดังนั้นสิ่งที่ทางโรงเรียนควรปฏิบัติอย่างยิ่ง(อย่างน้อย 2 เดือนต่อครั้ง) ก็คือ การชักชวนให้ผู้ปกครองและตัวแทนนักเรียน ออกเดินสำรวจสิ่งแวดล้อมเพื่อความปลอดภัยในโรงเรียน พร้อมนำกรณีตัวอย่างของนักเรียนที่เคยได้รับการบาดเจ็บในโรงเรียนมาเป็นอุทาหรณ์ วิเคราะห์ พูดคุยกันและหาทางป้องกันแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุซ้ำ               ตัวอย่างเช่น...

 

 

 

1...ห้องเรียน

1.1  บอร์ดหรือกระดานหน้าชั้น รวมทั้งบรรดาตู้ หรือชั้นวางของ จะต้องมีการยึดติดผนังอย่างแน่นหนา ไม่ให้หล่นหรือเอนล้มทับใครได้ และต้องห้ามให้นักเรียนมาปีนหรือโยกเล่นอย่างเด็ดขาด 

1.2  เครื่องใช้ไฟฟ้าทั้งหลายเช่นพัดลม ทีวีต้องคอยตรวจตราเสมอว่ายังยึดแน่นอยู่หรือไม่ หากสนิมเขรอะ หรือชำรุดก็ควรรีบเปลี่ยนใหม่หรือแก้ไขทันที และที่สำคัญคือจะต้องมีระบบตัดไฟเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน

1.3โต๊ะ เก้าอี้จะต้องไม่ทรุดโทรม ขาโยกเยก ต้องไม่มีตะปู ไม่มีเสี้ยนไม้ หรือเหล็กปริฉีกแหลมๆคมๆ

 

 

2... ห้องน้ำ 

1.1  กระดานปูพื้นห้องน้ำต้องเลือกแบบไม่ลื่น บริเวณและภายในห้องน้ำต้องมีแสงสว่าง ไม่มีน้ำขังเฉอะแฉะ และมีความสะอาดสะอ้านไม่ปล่อยให้เป็นแหล่งเพาะเชื้อโรค

1.2 ประตูห้องน้ำอยู่ในสภาพที่แข็งแรง ตัวล๊อคต้องไม่เสียหาย กลอนประตูต้องไม่ฝืดหรือสนิมเขรอะ(ห้องสุขาสำหรับเด็กเล็กไม่ต้องติดกลอน แต่จะต้องมีคุณครูคอยดูแลเด็กเล็กด้วย

1.3 จะต้องตั้งอยู่ในบริเวณทีมีรั้วรอบขอบชิด และไม่ตั้งอยู่ในที่ลับหูลับตา (เพื่อป้องกันการถูกทำร้ายจากคนแปลกหน้า)

 

 

                        3... ระบบไฟและอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า

3.1  มีช่างผู้ชำนาญในการดูแลบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด และมีการตรวจสอบอย่างน้อย ทุก 6 เดือน

3.2  อุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิดมีการติดตั้งสายดินและอุปกรณ์ตัดกระแสไฟฟ้า

3.3  ไม่แนะนำให้ใช้ตู้น้ำดื่มไฟฟ้า แต่หากจะใช้จริงๆก็จะต้องมีพื้นฉนวนรองรับเพื่อป้องกันไฟรั่วด้วย

3.4   ทางโรงเรียนจะต้องมีการอบรมอันตรายและการใช้อุปกรณ์ไฟฟ้าอย่างถูกต้อง

 

         

                  4เครื่องเล่นในสนามเด็กเล่น

4.1 ต้องมีการฝังฐานรากติดตรึงอย่างมั่นคงแข็งแรง ไม่โยกคลอน พื้นที่บริเวณนั้นต้องไม่แตกร้าวหรือทรุดตัว (อันตรายจากสนามเด็กเล่นนั้น  กว่า 70% เกิดจากการพลัดตกหกล้ม ที่นำมาซึ่งการบาดเจ็บและเสียชีวิตเพราะหัวกระแทกพื้น)

            4.2 สภาพของเครื่องเล่นแต่ละชิ้น ที่จะต้องไม่โยกเยกคลอนแคลน หรือสนิมเขรอะกระทั่งแม้แต่น้อตแต่ละตัวก็จะต้องไม่หมดสภาพ จุดเชื่อมต่อต่างๆก็จะต้องไม่หมิ่นเหม่ เหมือนจะหลุดจะร้าวได้ทุกเมื่อ

4.3  พื้นสนามจะต้องมีความหนานุ่ม  และควรเป็นพื้นทราย (ความหนาของพื้นทราย ก็ไม่ควรน้อยกว่า 30 เซนติเมตร ),พื้นขี้เลื่อย หรือเป็นยางสังเคราะห์ ไม่ใช่เป็นพื้นแข็งๆ อย่างพื้นซีเมนส์,ยางมะตอย,ทรายอัดแข็ง,พื้นหญ้า หรือที่พบเห็นอยู่ไม่น้อย ก็คือ พื้นที่เกลื่อนไปด้วยก้อนกรวดก้อนหิน,เศษอิฐ เศษปูน(เผลอๆก็มีเศษแก้ว เศษตะปูด้วย)

4.4   เครื่องเล่นสำหรับวัยก่อนเรียน ที่มีความสูงของพื้นยกระดับที่สูงมากกว่า 50 เซนติเมตร หรือเครื่องเล่นสำหรับเด็กวัยเรียนทีมีความสูงมากกว่า 75 เซนติเมตร จะต้องมีราวกันตก หรือผนังกันตกพื้นที่เผื่อการตกนั้น ต้องไม่มีสิ่งกีดขวาง หรือสิ่งเกะกะใดๆ

เครื่องเล่นที่มีพื้นยกระดับสูงน้อยกว่าหรือเท่ากับ 1.50 เมตร พื้นที่การตกในบริเวณรอบๆนั้น ควรมีราวๆ 1.50เมตร   แต่ถ้าเครื่องเล่นนั้นสูงเกินกว่า 1.5 เมตร พื้นที่การตกควรเป็น 1.80 เมตร โดยรอบ

    4.5 เด็กก่อนวัยเรียน(เด็กอนุบาล) ไม่ควรเล่นเครื่องเล่นที่สูงเกิน 1.20 เมตร (วัดจากพื้นสนามถึงพื้นยกระดับของเครื่องเล่นนั้นๆ) ส่วนเด็กวัยเรียน(เด็กประถม) ไม่ควรเล่นที่สูงเกิน 1.80 เมตร

    4.6    ช่องว่างของเครื่องเล่นต่างๆจะต้องมีขนาดน้อยกว่า 9 เซนติเมตร เพื่อกันไม่ให้หัวของเด็กลอดเข้าไปได้ หรือ มากกว่า 23 เซนติเมตร เพื่อศีรษะที่ลอดเข้าไปและออกมาได้ โดนไม่ติดค้าง   ส่วนการป้องกันเท้า หรือขาเข้าไปติด จะต้องมีช่องว่างไม่เกิน 3 เซนติเมตร   และ ป้องกันนิ้วเข้าไปติด โดยการแหย่หรือลอด จะต้องไม่มีช่องว่างที่อยู่ขนาด 0.5 เซนติเมตร ถึง 1.2 ซม.  - น็อต-สกรู ที่ใช้ในการยึดเครื่องเล่นสนาม จะเป็นระบบกันคลาย ต้องออกแบบให้ซ่อนหัวน็อต หรือปลายตัดหัวมนที่มีส่วนยื่นไม่เกิน 8 มิลลิเมตร

4.7     วัสดุที่ใช้ต้องไม่เป็นพิษและมีสารโลหะหนักเจือปนไม่เกินกว่าค่ามาตรฐานในของเล่น

       -    4.8   เครื่องเล่น โดยมากจะมีสีฉูดฉาดแบบการ์ตูน เพื่อดึงดูดใจเด็กๆ แต่หากว่า สีนั้นลอกหลุดร่อน ก็ควรหลีกเลี่ยงครับ เพราะอาจมีสารตะกั่วปนเปื้อน เมื่อลูกไปสัมผัสเข้า พิษสารตะกั่วก็มีโอกาสเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลเสียหายต่อการพัฒนาการทางสมอง

           4.9  การตรวจสอบและบำรุงรักษา ให้มีการตรวจสอบสนามเด็กเล่นและอุปกรณ์เครื่องเล่นสนามทุกวัน และตรวจสอบพร้อมบันทึก    เป็นหลักฐานทุก 3 เดือน โดยเจ้าหน้าที่ในสถานที่ที่ทำการติดตั้ง และมีเจ้าหน้าที่ที่มีความชำนาญทางวิศวกรรมตรวจสอบและบันทึกเป็นหลักฐานทุก 1 ปี ควรเป็นระเบียบปฏิบัติในส่วนการปกครองท้องถิ่น

         4.10  ผู้ดูแลเด็ก   ต้องมีการฝึกอบรมผู้ดูแลเด็กให้มีความรู้ในการเล่น การใช้เครื่องเล่น การระวังการบาดเจ็บและ    การปฐมพยาบาล สัดส่วนผู้ดูแลเด็กกับจำนวนเด็กเล็กเท่ากับ 1: 20 และผู้ดูแลเด็กกับจำนวนเด็กโตเท่ากับ 1 : 50 **  ต้องมีการจัดหลักสูตรการอบรมเจ้าหน้าที่ติดตั้งและตรวจสอบสนามเด็กเล่น และผู้ดูแลเด็กในขณะเล่น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

            รายละเอียดเรื่องความปลอดภัยที่ให้ไว้ข้างต้น คงเป็นเพียงส่วนหนึ่งนะครับ ที่คุณครู  ผู้บริหารโรงเรียนและคุณพ่อคุณแม่จะต้องร่วมมือร่วมใจกันสำรวจตรวจตรา และแก้ไขจุดเสี่ยงทั้งหลาย เพื่อให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัย สมกับเป็น “บ้านหลังที่สองของเด็กๆ “.....