เรือล่มอีกแล้ว...แต่ถึงยังไงก็ยังต้องอาศัย “เรือ ” ???

 

บทความโดย  ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์

 

 

        เรือล่ม กลางอ่าวพัทยา...ดับ 6  บาดเจ็บนับร้อย !! –เหตุบรรทุกเกิน!!!   …ราว 5 โมงเย็นของวันอาทิตย์ที่ 3 พ.ย.56 เรือโดยสาร 2 ชั้นขนาดใหญ่ ออกจากหาดแสม(เกาะล้าน) เพื่อกลับไปยังแหลมบาลีไฮ(ซึ่งเป็นเที่ยวสุดท้ายของวัน) โดยบรรทุกผู้โดยสารถึงกว่า 200 คน ทั้งที่ปกติบรรทุกได้เพียง 150 คน

 

 

                เมื่อเรือแล่นผ่านหน้าหาดนวล(ห่างจากฝั่งพัทยาราว 7 กิโลเมตร) ท้องเรือไปกระแทกเข้ากับโขดหินจนแตกเสียหาย ในขณะที่ปั้มน้ำภายในเรือก็ชำรุด ทำให้น้ำเข้าเรืออย่างรวดเร็ว นักท่องเที่ยวที่อยู่ชั้นล่างตื่นตกใจพากันวิ่งขึ้นไปชั้น 2 อย่างโกลาหล จนเรือรับน้ำหนักไว้ไม่ไหว จึงตะแคงแบ้วจมน้ำลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่เสื้อชูชีพก็ไม่เพียงพอกับผู้โดยสาร จึงเกิดโศกนาฏกรรมดังกล่าว...

 

 

 

เหตุร้ายครั้งนี้...คุณพ่อคุณแม่ที่ลูกๆจำต้องอาศัยบริการขนส่งสาธารณะประเภท เรือ”(เรือเมล์)เป็นกิจวัตรคงต้องอดเป็นกังวลห่วงใยไม่ได้แน่  
ครับ..เพื่อความปลอดภัยของลูกๆ  และคุณพ่อคุณแม่ก็จะได้คลายความกังวลลงไปได้ไม่มากก็น้อย จึงอยากจะเสนอข้อแนะนำบางประการ เมื่อลูกๆหรือบรรดาเด็กนักเรียนทั้งหลายต้องโดยสารทางเรือ

 

1 )  “กฎเหล็กของการโดยสารทางเรือ ”ก็คือ ถ้าว่ายน้ำไม่เป็น-ห้ามลงเรือครับ !
การลงเรือทั้งๆที่ว่ายน้ำไม่เป็น แต่หวังว่าหากเรือล่ม หรือจมน้ำก็แค่ที่จะรอให้ใครมาช่วย นั่นเป็นวิธีคิดที่ไม่ฉลาดเอาซะเลย  เพราะในความโกลาหลนั้น ต่างคนก็ต่างต้องเอาชีวิตตนเองให้รอดก่อน หรือหากมีใครว่ายเข้ามาช่วยก็ใช่ว่าจะไม่เสี่ยง เพราะการช่วยคนจมน้ำนั้นจะต้องผ่านการฝึกฝนหรือรู้วิธีที่ถูกต้อง ขืนบุ่มบ่ามโดยไม่มั่นใจก็อาจพากันกอดคอจมน้ำตายทั้งคู่

หรือแม้แต่จะรอให้หน่วยงานผู้ชำนาญมาช่วย ก็ไม่แน่ว่าจะทันเวลา ในขณะที่การขาดอากาศหายใจนั้นหากเกินกว่า 4 นาทีแล้ว ก็ถือว่าวิกฤตหนักเลยทีเดียว

 


2 )  ข้อพึงปฎิบัตืเมื่อขึ้นมาถึงบนเรือแล้ว ก็คือ ให้นั่งประจำที่ให้เรียบร้อย เพราะเรือโดยสารมิใช่สถานที่ท่องเที่ยว จึงไม่ควรนั่งห้อยขาหรือ ยืนโต้ลมที่หัวเรือหรือท้ายเรือ ไม่นั่งที่กราบเรือ และ ห้ามขึ้นไปนั่งบนหลังคาเรือ (ซึ่งมักพบเห็นเสมอ ในยามไปทัศนาจรทางเรือ)

 


3  )  เนื่องจากไม่รู้ว่าจะเกิดเหตุฉุกเฉินขึ้นเมื่อไหร่ การอยู่บนเรือจึงจะต้องเตรียมทั้งร่างกายและจิตใจให้พร้อมทุกขณะ โดยเฉพาะต้องเตรียมสละอะไรก็ตามที่จะเป็นอุปสรรคต่อการเอาชีวิตรอดในยามที่เกิดเรือล่ม-จมน้ำ( เอาชีวิตให้รอดก่อน ไม่ต้องเสียดายของนอกกายใดๆทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น  กระเป๋านักเรียน, กระเป๋าเดินทางรองเท้า, เข็มขัด,ถุงเท้า หรือแม้แต่ กระเป๋าเงิน ...ฯลฯ...)

                ดังนั้นการเดินทางทางเรือ ถ้าไม่จำเป็นจริงๆจึงไม่ควรหอบข้าวของให้หนักหน่วงพะรุงพะรัง

 

4  )  หากมีแผนจะพาครอบครัวไปเที่ยวทางเรือ ก็ควร “วางแผน”กันไว้ล่วงหน้า นั่นก็คือ ฟังคำพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยา (ฟังได้จากทางวิทยุ และที.วี.) หากได้แจ้งว่ามีคลื่นลมแรง มีพายุก่อตัว-เตือนว่าเรือยังไม่ควรออกจากฝั่ง ฯลฯ...ซึ่งนั่นก็หมายถึง ช่วงเวลานั้นจะต้องงดเดินทางโดยทางเรือครับ

 

5  ) หากเรือที่กำลังแล่นอยู่นั้นเกิดอาการโคลงเคลง เพราะโดนคลื่นซัด หรือน้ำพลิ้วจากเรือคันอื่น
 ก็อย่าตกใจมากนัก ตั้งสติครับและจับพนักที่นั่ง หรือจับราวไว้ให้มั่น แล้วนั่งนิ่งๆเพื่อกันการลื่นล้ม 
หรือไหลเอียงไปรวมกันในด้านใดด้านหนึ่งของเรือ จนเรือขาดความสมดุลและเสียการทรงตัว

 

อุบัติเหตุเรือล่มในหลายกรณีเกิดจาก ผู้โดยสารเฮโลสาระพามาทางด้านใดด้านหนึ่ง
( โดยมากเทมาทางกราบเรือ) จะด้วยเพราะเกิดเหตุลมกรรโชกแรง-คลื่นซัด-ร้อนแดด- หรือเปียกฝน
หรืออะไรก็ตาม   แต่ผลก็คือ ทำให้เรือเสียสมดุล และเอียงกะเท่เร่ แล้วก็มีสิทธิจมลงได้ในที่สุด

 

6  )  หากเรือล่ม   จงตั้งสติไว้ให้มั่น อย่าตกใจจนเกินไป พยายามว่ายน้ำให้ห่างจากเรือ เพื่อป้องกันเรือพลิกคว่ำแล้วมาครอบเราไว้  รวมทั้งให้ระวังใบจักรเรือที่ยังทำงาน(หมุนติ้วๆ) โดยว่ายน้ำไปให้ห่างๆเข้าไว้ และห้ามคว้าหรือจับกราบเรือ เพราะอาจโดนน้ำดูดเข้าไปใต้ท้องเรือและได้รับอันตรายจากใบจักรเรือ

 

 

 

 

ความตกใจกลัวจนเกินไป ทำให้หลายๆคนว่ายน้ำกันอย่างสุดชีวิต
แล้วผลที่ตามมาก็คือ เหนื่อยจนหายใจไม่ทัน และหมดแรงในที่สุด 
ยิ่งหากฝั่งยังอยู่อีกไกลโขก็ยิ่งอยู่ในภาวะอันตราย
 
ดังนั้น เมื่อว่ายน้ำห่างออกจากบริเวณที่เกิดเหตุแล้ว ก็ให้ใช้เพียงการพยุงตัว
หรือลอยน้ำไว้ก่อนจะได้ไม่เหนื่อยมาก  มองดูวัสดุที่ลอยน้ำได้ และพอหาได้ในเวลานั้น 
หรืออาจมีคนบนฝั่งช่วยโยนลงมาให้ ก็ใช้ประคับประคองเพื่อให้ตัวได้ลอยตามกระแสน้ำค่อยๆพัดพาไปเข้าสู่ฝั่ง ไม่ต้องว่ายน้ำอย่างหักโหม แต่ให้ประคองตัวไว้ เพื่อรอคนมาช่วย หรือประคองไว้พอหายเหนื่อยจึงค่อยๆว่ายกลับเข้าฝั่งอย่างปลอดภัย