ระวัง ! เสียลูกไป...อย่างคาดไม่ถึง.....

 

 

บทความโดย  ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์

 

 

 

 

 

ทั้งๆที่ดูแลลูกอย่างสุดถนอมดังไข่ในหิน ทั้งๆที่พยายามป้องกันภัยนานาอย่างสุดจิตสุดใจ

 

แต่แล้วก็พลาดจนได้ เพียงเพราะละเลยในบางเรื่องก็ทำให้ลูกรักต้องได้รับบาดเจ็บ หรือต้องถึงกับสูญเสียลูกไปอย่าง...คาดไม่ถึง...

 

หากใครติดตามข่าวบนหน้าหนังสือพิมพ์เป็นประจำ ก็จะพบว่า นี่คือข่าวที่มีให้สลดใจได้อยู่เสมอ.....    แม่ใจสลาย  ลูก1 ขวบ-จมถังน้ำดับอนาถ เนื้อข่าวมีว่า  เด็กวัยขวบเศษถูกปล่อยให้อยู่ลำพัง โดยแม่และป้าต่างออกไปทำงานนอกบ้าน แม้ว่าแม่จะอออกไปนั่งขายของห่างไปไม่เกิน 10 เมตร แต่เมื่อแว่บกลับมาดูลูก ก็พบว่าลูก หัวและตัวของลูกทิ่มลงในไปถังน้ำที่สูงราว 70 ซ.ม.และมีน้ำอยู่ครึ่งถัง! (คาดว่าหนูน้อยคงหย่อนแปรงซักผ้าลงไปในถังน้ำ แล้วก้มลงไปเก็บ ศีรษะจึงจุ่มลงไปในน้ำ  และเสียชีวิตเพราะขาดอากาศหายใจ)

 

                การสูญเสียลูกแบบ”คาดไม่ถึง” กรณีเด็กจมถังน้ำคือเรื่องที่ควรเป็นอุทาหรณ์ย่างยิ่ง เพราะพบว่ามีผู้ใหญ่หลายๆท่าน ที่นิยมนำถังสี(ถังพลาสติกที่เคยเป็นถังใส่สีมาก่อน)มาใช้งาน เช่น นำมาเป็นถังซักผ้า หรือถังถูบ้าน เพราะอาจเห็นว่ามันทั้งสูงทั้งหนาบรรจุน้ำได้เยอะดี แต่นั่นกลับกลายเป็นจุดเสี่ยงประจำบ้าน  เมื่อมันมักจะมีน้ำคาอยู่ภายใน แทนที่จะรีบเททิ้งแล้วคว่ำถังหลังจากใช้งานเสร็จ หรือหากยังใช้งานยังไม่เสร็จก็ควรดูแลลูกเล็กอย่าให้คลาดสายตา เพราะจะต้องไม่ลืมนะครับว่า การจมน้ำหรือขาดอากาศหายใจนั้น เพียงแค่ 4 นาทีก็อาจเสียชีวิตหรือเกิดภาวะสมองตายกลายเป็นเจ้าชายนิทรา

 

                หรือแม้แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงอย่างพวกกะละมังก็เป็นเหตุให้เด็กจมน้ำตายมาแล้ว

 

เช่น เมื่อหลายปีก่อน หมู่บ้านย่านอ่อนนุช มีปัญหาน้ำไหลไม่ค่อยเป็นเวลาเพราะดำลังซ่อมท่อครั้งใหญ่ ผู้คนจึงต้องพากันรองน้ำใช้กันอย่างทุลักทุเล ใครมีภาชนะอะไรที่พอใส่น้ำได้ต่างก็ระดมกันออกมารองน้ำไว้ใช้ ในเวลาน้ำไม่ไหล แต่นั่นอาจทำให้เกิดความคุ้นชินกับการมีภาชนะรองน้ำอยู่รอบบ้าน โดยหลงลืมไปว่ามันอาจกลายเป็นจุดเสี่ยง ...และแล้วมันก็เกิดขึ้นจนได้ เมื่อคุณแม่ท่านหนึ่งมัวง่วนอยู่กับการทำงานบ้าน ในขณะที่ลูกสาววัย8 เดือนกำลังคลานต้วมเตี้ยมไปมาทั่วบ้าน  กว่าคุณแม่จะรู้ตัวอีกทีว่าลูกหายไปไหน ก็มาพบลูกนอนคว่ำหน้าแน่นิ่งศีรษะจุ่มลงไปในกะละมังที่รองน้ำไว้  ลูกน้อยเนื้อตัวซีดเชียว คุณแม่พยายามปฐมพยาบาลโดยการแบกพาดบ่าแล้วเขย่าๆ(ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด) เมื่อเห็นว่าลูกไม่ฟื้น จึงรีบส่งไปโรงพยาบาล

 

เด็กเข้ารักษาตัวในห้องไอซียู แล้ว 7วันต่อมาเด็กน้อยก็เสียชีวิต ด้วยอาการติดเชื้อที่ปอด

 

ย้อนหลังไปหลายปีก่อน...หลายท่านคงจำภาพเจ้าหน้าที่ชายผู้หนึ่งยกเด็กน้อยที่คว่ำหน้าจมน้ำตายในโอ่ง นั่นคือภาพอันน่าสลดใจบนข่าวหนังสือพิมพ์ ซึ่งเป็นดังสิ่งเตือนใจว่าบ้านใดที่ต้องใช้ ตุ่ม-ไห-โอ่งไว้รองน้ำ  หลังจากรองน้ำแล้ว ก็จะต้องรีบปิดฝาโอ่งฝาตุ่มไว้เสมอ

 

                ยังมีอีกสิ่งที่ไม่น่าเชื่อนั่นก็คือ โถชักโครกไงละครับ เด็กหย่อนหัว จุ่มน้ำในโถชักโครก แล้วดึงตัวขึ้นมาไม่เป็น จนเสียชีวิตคาโถก็เคยเกิดขึ้นมาแล้ว

 

                สมาคมกุมารแพทย์แห่งสหรัฐอเมริกา เคยออกประกาศเตือนภัยว่า ใครมีลูกๆหลานๆอยู่ในวัย 1-2 ขวบจะต้องระวังเรื่องการจมน้ำตายให้จงหนัก ในเด็กไทยของพวกเราเองก็มีสถิติที่น่ากลัวมิใช่น้อย เพราะอัตราการตายเพราะจมน้ำนั้น อยู่ที่ 10 ต่อ 7 (ในประชากร 1 แสนคน) โดยเด็กๆวัย 1 – 4 ขวบมีตัวเลขจมน้ำเสียชีวิตสูงกว่าเด็กญึ่ปุ่น 3 เท่า และสุงกว่าเด็กสวีเดนอยู่ถึง 7 เท่า)

 

                และที่น่าตกใจกว่านั้นก็คือ  จุดที่เด็กๆของเราจมน้ำเสียชีวิตก็คือ แหล่งน้ำภายในบ้าน-หรือใกล้ๆบ้าน...      (เช่น  ส้วมชักโครกที่เปิดฝาไว้, ถังน้ำ,กะละมังปริ่มน้ำ,โอ่งน้ำไม่ปิดฝา,บ่อน้ำไม่มีฝาปิดไม่มีรั้วกั้น ,สระว่ายน้ำ, ลำคลอง, คลองระบายน้ำ, แม่น้ำ ...ฯลฯ...)

 

ดังนั้นโปรดป้องกันไว้ตั้งแต่บัดนี้ครับ

1  )  อย่าปล่อยให้ลูกคลาดสายตา    โดยเฉพาะเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบยิ่งต้องดูแลกันใกล้ชิด ไม่ควรวางใจว่าเด็กวัยนี้จะหลบหลีกอันตรายต่างๆที่อยู่รอบตัวได้เป็นอย่างดี

อย่าปล่อยให้เด็กอยู่ในน้ำหรืออยู่ใกล้น้ำเพียงลำพัง ไม่ว่าจะเป็นอ่างน้ำในบ้าน หรือบ่อน้ำ สระน้ำนอกบ้านไม่ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆเพียงใดก็ตาม ดังนั้นถ้าคุณมีธุระ เช่น ไปรับโทรศัพท์ ,มีคนมาเยี่ยม,ไปดูทีวี ก็ให้อุ้มลูกออกไปด้วยทุกครั้งครับ

 

                2  )  ทำบ้านปลอดภัยให้ลูกรัก   ควรจะขยันสำรวจทั้งในและนอกบ้านอยู่เสมอๆว่า จุดใดคือจุดเสี่ยง ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายกับลูกๆหรือสมาชิกในครอบครัว เมื่อพบแล้วก็ต้องรีบจัดการให้เรียบร้อย   เช่น       - ไม่ปล่อยให้เด็กเล่นน้ำในกะละมังในอ่างน้ำโดยลำพัง

  - ถ้ารองน้ำไว้ในถัง ในตุ่ม ในโอ่ง ต้องปิดฝาไว้ตลอดเวลา

- น้ำในถังในกะละมังหากไม่ได้ใช้ให้เททิ้งและคว่ำกะละมังคว่ำถังไว้ด้วย

- หากในบริเวณนั้นมีสระว่ายน้ำ มีบ่อ ให้ทำรั้วกั้น เพื่อไม่ให้เด็กๆเข้าไปเล่นโดยไม่มีผู้ใหญ่ดูแล

 

                3  ) เด็กๆเมื่อถึงวัยแล้ว จะต้องว่ายน้ำเป็นและรู้ถึงอันตรายของน้ำ

                                เมื่อลูก 5 ขวบขึ้นไป ควรจะพาลูกไปเรียนว่ายน้ำ โดยเรียนกับคุณครูผู้มีความชำนาญ(ด้านการว่ายน้ำ) แล้วก็อย่าเห็นเป็นสิ่งฟุ่มเฟือยเลยนะครับ ที่จะลงทุนให้ลูกในเรื่องของการว่ายน้ำ ที่ไม่เพียงตาว่ายน้ำ(พอจะ)ได้  ตาควรพยายามส่งเขาเรียนกระทั่งว่ายน้ำเก่ง โดยมีทั้งความชำนาญ ความแข็งแรง และมีทักษะในการเอาชีวิตรอดยามเกิดเหตุฉุกเฉิน

                ส่วนทักษะในการช่วยเหลือผู้อื่น(ที่จมน้ำ)นั้น ก็สามารถฝึกฝนต่อไปได้ เมื่อเขาเติบโตขึ้น...

 

                4  ) ส่วนลูกที่อายุน้อยกว่า 5 ขวบ แม้ยังไม่พร้อมจะเรียนว่ายน้ำ แต่ก็ยังพอจะฝึกฝนการรู้จักช่วยตัวเองให้โผล่พ้นน้ำขึ้นมาได้เมื่อตกน้ำ และพอจะประคับประคองตนเองได้ เพื่อให้ผู้พบเห็นช่วยได้ทัน               

นอกจากนั้นการจูงมือเด็กๆ ให้ไปสำรวจจุดเสี่ยงด้วยกัน พร้อมกับให้คำแนะนำและคำห้ามปราม ก็น่าจะได้ผลดีในเรื่องของความปลอดภัยไม่น้อยเลย

เช่น  พาไปสระว่ายน้ำ แล้วเดินไปดูไปสัมผัสถึงความลื่นของขอบสระ ที่ไม่ควรวิ่งเล่นในบริเวณนี้อย่างเด็ดขาด แล้วแนะนำอีกว่า ก่อนจะลงว่ายน้ำจะต้องทำการวอร์มอัพ หรือบริหารร่างกายก่อนลงสระ เพื่อให้ร่างกายได้ปรับสภาพความพร้อมก่อนจะออกกำลังกาย มิฉะนั้นอาจเกิดปัญหากล้ามเนื้อได้รับบาดเจ็บ กล้ามเนื้อเกร็ง  หรือ ตะคริวกินระหว่างกำลังว่ายน้ำ

 

ข้างต้นนี้เป็นเพียงกรณี “จมน้ำตาย.อย่างคาดไม่ถึง” ซึ่งหวังว่าคุณพ่อคุณแม่คงจะได้ “คาดถึง “ หรือ “ตระหนักถึง” เพื่อจะได้ระมัดระวังและป้องกันไว้ก่อน

สำหรับ “ภัยอื่นๆที่คาดไม่ถึง” ก็จะนำมาเล่าสู่กันฟัง(อ่าน)ในโอกาสต่อๆไปนะครับ...